ขึ้นชื่อว่า มะเร็ง โรคร้ายอันดับต้นบนโลกนี้ที่สามารถคร่าชีวิตมนุษย์ไปอย่างมากมายในทุกๆ ปี มีหญิงกว่า 2 ล้านคนถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งทรวงอก ส่วนใหญ่สามารถมีชีวิตรอดได้ ข้อนี้ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่มีความหวังให้อย่างเงียบๆ แต่ทว่าไม่อาจลบเลือนความกลัวที่มาพร้อมการรับรู้ว่าตนเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรคนี้
แมมมาคาร์ซินอม คือชื่อทางการแพทย์ของ มะเร็งทรวงอก หรือ มะเร็งเต้านม มะเร็ง ที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นกันมากที่สุด ประมาณกันว่า 1 ใน 20 คนของสตรีจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ดี การเยียวยารักษามะเร็งทรวงอกก็ได้มีการพัฒนาไปมาก ยิ่งหากได้รับการตรวจพบเซลล์มะเร็งเสียแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
มะเร็งเต้านม มีผลต่ออวัยวะที่สำคัญมากของผู้หญิง มันมีผลต่อความเป็นหญิง เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กถึงความสำคัญของหน้าอก ความเกี่ยวข้องกับความเป็นหญิงและเรื่องเพศ คนมองเราอย่างไรและเราสวยงามแค่ไหน เพราะผู้หญิงทุกคนจะกังวลกับภาพลักษณ์ภายนอกมาก นั่นคือจากมุมมองในเรื่องที่ลึกซึ้ง ส่วนมะเร็งเต้านมในหญิงไทยนั้น เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสอง รองจากมะเร็งปากมดลูก มักเกิดในหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบมากในหญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรน้อย อีกส่วนหนึ่งคือในผู้ที่มีประวัติว่าญาติพี่น้องเคยเป็นมะเร็งเต้านม แต่ผู้หญิงที่มีอายุน้อยหรือแม้แต่ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน เพียงแต่พบได้น้อย สาเหตุการเกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่นอนแต่ในทางระบาดวิทยาอาหารที่มีไขมันสูงมีส่วนทำให้เกิดโรคได้
การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้วิธีใดต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งมะเร็งที่ตรวจพบส่วนใหญ่ในประเทศไทย จะรักษาโดยวิธีการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกร่วมกับการรักษาด้วยวิธีเสริมอื่นๆ ซึ่งในการผ่าตัดมีด้วยกัน 4 แบบหลัก คือ
“Modified Radical Mastectomy” ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดรักษาแบบมาตรฐาน ศัลยแพทย์จะตัดเอาเนื้อเยื่อของเต้านมออกหมด ตัดผิวหนังนมบางส่วนรวมถึงหัวนม และบางส่วนของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก
“Total Mastectomy” หรือบางทีเรียกว่า Simple Mastectomy วิธีนี้ศัลยแพทย์จะตัดเอาเนื้อเยื่อของเต้านม(ต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม และเนื้อเยื่อไขมัน) รวมถึงผิวบางส่วนและหัวนมออกไป
“Lumpectomy” เป็นการตัดเฉพาะก้อนเนื้องอก และเนื้อเยื่อปกติรอบๆ บางส่วนออกไป ในกรณีที่เป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรกยังไม่ลุกลาม โดยทำร่วมกับรังสีรักษา
“Partial or Segmental Mastectomy” โดยการตัดก้อนมะเร็ง และเนื้อเยื่อบางส่วนของเต้านม ซึ่งเกิดมะเร็งออกไปในกรณีที่ก้อนมะเร็งยังไม่โตและไม่ลุกลามมาก โดยทำร่วมกับรังสีรักษา
การผ่าตัดด้วยวิธีใดก็ตาม อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดปลอดภัยจากโรคร้าย แต่เบื้องหลังของความสำเร็จนั้นตามมาด้วยความทุกข์ในรูปแบบใหม่ เมื่อผู้ป่วยต้องเผชิญกับความจริงอันโหดร้ายทางร่างกายเพราะโดยส่วนใหญ่จะยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วไม่ได้
ประเด็นสำคัญก็คือการรักษามะเร็งเต้านมไม่อาจรักษาความเป็นหญิงที่สมบูรณ์ไว้ได้ ดังนั้น พวกเธอจึงต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตใจจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจจากสามี ความรักและเอาใจใส่จากคนในครอบครัว เพื่อให้เธอสามารถต่อสู้และฝ่าภัยกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้นได้ตลอดรอดฝั่ง
เพิ่มเติมที่ http://women.vwander.com/healthy/มะเร็งทรวงอก.html